ทำไมต่างประเทศรณรงค์ไม่ให้ใส่ “หน้ากากอนามัย”
สื่อต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงขึ้นจนกลายเป็นประเทศเสี่ยงติดเชื้ออย่างสิงคโปร์ รวมถึง WHO หรือ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า คนที่ควรใช้ “หน้ากากอนามัย” คือคนที่กำลังป่วยเป็นไข้หวัด มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล รวมถึงคนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ หน้ากากอนามัยออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ละอองน้ำลายที่เกิดจากการไอ จาม กระจายตัวออกมาและสามารถแพร่เชื้อไวรัสไปยังคนที่ร่างกายปกติดีได้ ดังนั้นคนที่ “จำเป็น” ต้องใส่หน้ากากอนามัยจริงๆ ก็คือคนที่กำลังป่วย มีไข้ เป็นหวัด ไม่สบายอยู่นั่นเอง (ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดประเภทใดก็ตาม) และคนที่มีสุขภาพแข็งแรงดีจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่หน้ากากอนามัยแต่อย่างใด
อันตรายจากการใส่หน้ากากอนามัย ทั้งที่ไม่ได้ป่วย
นอกจากคนที่มีสุขภาพแข็งแรงจะไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังมีความเห็นว่า การใส่หน้ากากอนามัยของผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดียังอาจเป็นการเพิ่มการติดเชื้อไวรัสมากขึ้นโดยไม่รู้ตัวได้ โดย Dr. Eli Perencevich อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ และระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยการแพทย์ไอโอวา กล่าวกับเว็บไซต์ Forbes ว่า “คนธรรมดาที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงตามปกติไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย และไม่ควรใส่ด้วย เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการใส่หน้ากากอนามัยสามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้จริงๆ ยิ่งถ้าหากสวมใส่อย่างผิดวิธี ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้มากขึ้น เพราะผู้สวมใส่อาจเอามือสัมผัสใบหน้าบ่อยขึ้นกว่าเดิม”
นอกจากนี้ยังระบุอีกด้วยว่า ถึงแม้จะคนปกติจะใส่หน้ากากอนามัยและพยายามไม่เอามือขึ้นมาสัมผัสใบหน้าระหว่างวัน ก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยอยู่ดี นั่นเป็นเพราะว่าหน้ากากอนามัยถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของละอองน้ำลายจากการไอ จาม ออกไปสู่ภายนอก ไม่ได้ป้องกันไม่ให้ละอองน้ำลายเข้าสู่จมูก ปาก หรือทางเดินหายใจของเรา หากต้องการหน้ากากที่ป้องกันไม่ให้ละอองน้ำลายของผู้ป่วยเข้าสู่ร่างกายของเราได้จริงๆ ต้องเป็นหน้ากากอนามัยที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้เมื่อต้องทำการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง อย่างหน้ากากชนิด N95 หรือ FFP2 ขึ้นไป รวมไปถึงอุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ (respirator) ที่สามารถป้องกันอนุภาคขนาดเล็กต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เช็กชนิดของหน้ากากได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา)